วันพฤหัสบดีที่ 20 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

Reason and Value

การทำสิ่งใดก็ตามด้วย "เหตุผล" (Reason) และ "คุณค่า" (Value) นั้นเป็นฝาแฝดกัน แยกกันได้ยากเต็มที 

"ฉันทำสิ่งนี้เพราะเงินตอบแทน" 

นี่เป็นแรงผลักดันให้ลงมือทำเพราะการเห็นคุณค่าในสิ่งที่ทำซึ่งก็คือเงินที่รับตอบแทนมา และก็เป็นได้ทั้งการทำเพียงเพราะเหตุผลที่เห็นสมควรซึ่งก็คือการได้มาซึ่งเงินตอบแทนนั่นแหละ

มันเป็นเรื่องยากที่แยกสองสิ่งนี้ออกจากกัน

นัก NLP เสนอว่า การที่ใครจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรนั้น คุณค่าเป็นสิ่งที่ทรงพลังกว่าเหตุผลอยู่มากโข เมื่อคุณจะทำสิ่งใดให้ประสบความสำเร็จ คุณจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเข้าถึงคุณค่าของมัน ไม่ใช่ทำเพียงเพราะเหตุผล เพราะทันทีที่คุณมีเหตุผลที่จะลงมือทำ เหตุผลที่จะไม่ลงมือก็สามารถเกิดขึ้นมาต่อต้านได้ทันทีเช่นกัน

การการเล็งเห็นซึ่งคุณค่าของสิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่ มันทรงพลังกว่า มันแน่นอนกว่า

แล้วเราจะแยกสองสิ่งนี้ออกจากกันได้อย่างไรล่ะ?

จุดตัดง่ายๆ ระหว่างคุณค่าและเหตุผลนั้นมันอยู่ที่คำว่า "ความสุข" (Happiness) เท่านั้นแหละ

สิ่งนั้นมีคุณค่าเพราะคุณรักสิ่งนั้น คุณรักสิ่งนั้นเพราะคุณมีความสุขที่ได้อยู่กับสิ่งนั้น

ไม่มีอะไรมากไปกว่านี้อีกแล้ว






ความเชื่อและสิ่งที่เกิดขึ้นจริง

ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ NLP พูดอยู่เสมอว่า "ความเชื่อก็คือความจริงสำหรับคนๆ นั้น" คำถามก็คือถ้าผมเป็นนักมวยและเชื่อว่าผมเก่งที่สุดในโลก ผมจะกลายเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกตามความเชื่อของผมหรือไม่?

สำหรับคำตอบก็คือ "จริงครับ" ผมจะกลายเป็นคนที่เก่งที่สุดในโลกจริงๆ แต่มันจริงสำหรับผมเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าจะจริงสำหรับโลกใบนี้

สำหรับ NLP แล้ว พวกเราทุกคนต่างก็มีความเชื่อด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าความเชื่อแกนที่เป็นความเชื่อเกี่ยวกับตนเอง หรือความเชื่อเปลือกที่หมายถึงความเชื่อองค์ประกอบของชีวิต ความเชื่อเป็นความจริงเฉพาะของคนๆ นั้น เพราะฉะนั้นความเชื่อจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะถ้าใครเชื่อว่าอย่างไรก็จะมีพฤติกรรมสอดคล้องไปตามความเชื่ออย่างนั้นจริงๆ

ถ้าความเชื่อที่มีสร้างสรรค์ชีวิตก็ไปได้สวย แต่ถ้าเชื่อเลอะเทอะ เชื่อไม่สร้างสรรค์ เชื่ออะไรที่มันสวนทางกับการหมุนของโลกของความเป็นจริง ความซวยอย่างแท้จริงก็จะบังเกิด

NLP จึงเน้นย้ำเป็นอย่างยิ่งว่าความเชื่อที่มีนั้นจำเป็นต้องสร้างสรรค์ ซึ่งถ้าไม่รู้ว่าอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์อย่างน้อยก็ควรดูแบบอย่างจากผู้ที่ประสบความสำเร็จว่าเขาเชื่ออย่างไรกันบ้าง

ถ้าคุณไปถามนักมวยที่ประสบความสำเร็จ เชื่อเถอะพวกเขาไม่ได้เชื่อว่าเขาเก่งหรอก แต่เขาเชื่อว่าการฝึกซ้อมอย่างทุ่มเทอย่างไม่ย้อท้อคือทั้งหมดต่างหาก

และถ้าคุณไปถามคนที่สร้างเนื้อสร้างตัวร่ำรวยด้วยตัวเอง ก็เชื่อเถอะว่าเขาไม่ได้เชื่อว่าหรอกว่าเขาร่ำรวยแล้ว แต่เขาเชื่อว่าเขาสามารถสร้างความร่ำรวยได้ด้วยความสามารถของเขาเอง ซึ่งก็กำลังทำอยู่เนี้ย!!!

เชื่ออย่างไร เชื่ออย่างสร้างสรรค์หรือไม่ นั่นแหละคือสิ่งที่ NLP ต้องการจะเน้นย้ำ สำหรับความเชื่อของทุกคน






The Sub-Modality Control

ถ้าการนึกถึงเสียงตะคอกที่ฝังใจมาในวัยเด็กจะทำให้รู้สึกหวาดกลัวและหดหู่ใจอย่างที่สุด หรือภาพประสบการณ์ความผิดพลาดในอดีตบางอย่างก็สร้างรู้สึกที่เรียกว่าจิตตกได้ไม่น้อย 

ที่สำคัญคือถึงแม้เราจะไม่ได้อยากนึกถึงมันเลยแม้แต่น้อยแต่บ่อยครั้งที่มันก็ผุดขึ้นมาเองอย่างไร้การควบคุม 

การเปลี่ยนประสบการณ์นั้นให้กลายเป็นหนังเงียบ ภาพเหตุการณ์หดเล็กลงจนเหลือเท่าภาพในแสตมป์ หรือไม่ก็ขยำภาพเหตุการณ์แย่ๆ เหล่านั้นปาลงถังขยะเสียเลยสามารถช่วยทำให้ความรู้สึกหวาดกลัวและหดหู่ใจหายไปได้อย่างน่าประหลาดใจ

หรือถ้าเปลี่ยนเสียงตะคอกให้กลายเป็นเสียงโดนัลด์ดั๊กมันเสียเลยคุณก็อาจจะรู้สึกขบขันแทนไปเลยก็ได้

และถ้าเราทำอย่างนี้บ่อยมากพอจนกระทั่งระบบประสาทของเราเกิดความเคยชินแล้วล่ะก็ ประสบการณ์แย่ๆ เหล่านี้ก็จะไม่สามารถกลับมารบกวนชีวิตของเราได้อีกต่อไป เพราะเราได้สอนระบบประสาทให้รู้แล้วว่าควรจะตอบโต้ต่อ Resource แย่ๆ อย่างนี้แบบไหนดี






Working

ทำไมงานที่ฉันทำอยู่จึงไม่ประสบความสำเร็จเสียที(วะ) ..... อันนี้ว่ากันตามประสบการณ์ที่เห็นกับตาตัวเองมาล้วนๆ ผมค้นพบว่ามันก็เป็นไปตามที่ NLP เขาว่านั่นแหละ คือผู้คนโดยส่วนใหญ่มักทำงานของเขาด้วย "เหตุผล" และเหตุผลที่มันจะเป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ทำให้ผู้คนต้องทำงานก็คือ "เงิน"

แน่นอน เราอยู่ในสังคมทุนนิยม อะไรๆ ก็ต้องใช้เงินไปหมด ชีวิตของเราต้องการเงินอย่างไม่ต้องสงสัย ถ้าไม่มีเงินเราจะอยู่ได้อย่างไร ว่าแล้วก็ต้องหาทางให้ได้เงินมาไม่ว่าจะด้วยทางใดทางหนึ่ง

ว่าแล้วทุกคนก็ตั้งหน้าตั้งตาหาเงิน เมื่อจะเริ่มลงมือทำอะไรก็ตาม เรื่องที่ว่า "เอ๊ะ จะได้เงินเท่าไหร่นะ" มันก็เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก

ทำไอ้โน่นแล้วได้เงินดีนะ ทำไอ้นู้นรายได้ดีนะ เห็นเขาทำกิจการนู้นนี้แล้วเงินดีมากเลยนะ บลาๆๆๆๆๆ

ซึ่ง NLP บอกว่ามันผิด!!!!!

เราทำเพราะอยากได้เงิน แต่ถ้างานมันมีอุปสรรค ถ้าเงินมันไม่ได้ตามที่ฝันไว้เราจะทำทำไปได้ซักกี่น้ำ? แล้วทำอะไรล่ะที่ไม่ต้องมีอุปสรรคแม้แต่นิดเดียว ถ้ามีผมก็ยินดีด้วย แต่ในความจริงผมว่ามันเป็นไปไม่ได้!!!!

ดังนั้น NLP จึงว่าเมื่อเราทำอะไรก็ตาม ถ้าจะให้ประสบความเสร็จเราจำเป็นต้องทำในสิ่งที่เรา "รัก"

คุณรักที่จะทำอะไร ทำอย่างไรล่ะ ก็ทำไปอย่างนั้นแหละ จงใช้สติและปัญญาของคุณทำสิ่งที่รักให้เป็นเงิน นั่นต่างหากที่เป็นสูตรสำเร็จของผู้คนที่สำเร็จไปแล้วจำนวนมากที่ NLP สังเกตเห็น

สำหรับ NLP ความรักเป็นเรื่องของความเชื่อ คือเป็นการที่เรายอมรับต่อสิ่งใดอย่างไม่มีเงื่อนไข มันทรงพลังมากเพราะมันอยู่เหนือเหตุผล ความรักทำให้ความยากลำบากกลายเป็นความท้าทาย ทำให้อุปสรรคกลายเป็นความตื่นเต้น ไม่รู้สึกว่ามันเหนื่อยยากหรือน่าเบื่อเลยเมื่อคุณต้องทำในสิ่งที่คุณรักซ้ำๆ

เมื่อคุณรักคุณไม่จำเป็นต้องมีเหตุผล และเมื่อสิ่งที่คุณรักทำเงินให้คุณ ..... นั่นคือเคล็ดลับความสำเร็จที่น่าอัศจรรย์ครับ





Keep Going

หลักการพื้นฐาน (Principle) ของ NLP ข้อหนึ่งกล่าวว่า 

“ทุกพฤติกรรมล้วนแล้วมีเจตนาดี” 

เพียงแต่เจตนาดีที่ว่านี้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของคำว่า “ต่อตนเอง” ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่ก็ตาม

เช่นถ้าใครซักคนจะยิงปืนใส่อีกคน ดูเหมือนว่าสิ่งที่เขาทำจะไม่เป็นเจตนาดีที่ตรงไหน แต่สำหรับส่วนตัวเขาเองนี่ย่อมเป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดเสมอเท่าที่เขาจะทำได้ในวินาทีนั้นในบริบทนั้น เช่นถ้าไม่เหนี่ยวไกยิงออกไปในวินาทีนั้นตัวของเขาเองก็อาจจะเป็นฝ่ายโดนยินเสียเองก็ได้

ดังนั้นเอ็นแอลพีจึงมองว่าเมื่อเราอยู่ในสถานการณ์ที่ต้องเลือก เราก็จะเลือกตัวเลือกที่ดีที่สุดต่อตัวเองในวินาทีนั้นในบริบทนั้นเสมอ เพียงแต่ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจริงในต่อมารวมถึงผลต่อเนื่องที่จะตามมามันจะเป็นอย่างไรมันก็เป็นอีกเรื่อง และผลลัพธ์ที่ได้นั้นไม่ว่าจะอย่างไรก็ตามเราทำได้เพียงยอมรับมันเท่านั้นไม่สามารถย้อนกลับไปแก้ไขอะไรได้อีก

สรุปว่าชีวิตของเรา "เดินหน้าต่อไป" เท่านั้นครับ






Free E-Book "Change Your Life with NLP"

โดย พูนศักดิ์ ธนพันธ์พาณิช

อ่านหรือดาวโหลดฟรีได้ที่

http://thaihypnosis.com/book/Change%20you%20life%20with%20NLP.pdf

หรือที่ http://thaihypnosis.com/ แล้วเลือกคลิกที่ Change Your Life with NLP

ขอความสุขและความสำเร็จจงมีแด่ทุกท่านครับ 








ความแตกต่าง

ถ้าเราเปรียบสมองว่าเป็นเหมือนกลไกผลิตความคิดจิตใจอันนำไปสู่พฤติกรรมต่างๆ ที่แต่ละคนแสดงออกมาไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัวก็ตาม แต่ละคนก็ย่อมมีกลไกที่แตกต่างกันออกไปอย่างไม่ต้องสงสัย ความแตกต่างนี้มันทำให้คุณก็คือคุณ ผมก็คือผม แต่ละคนเป็นในสิ่งที่ตัวเองกำลังเป็น พวกเราแตกต่างกันอย่างแน่นอน

เหตุผลที่พวกเรามีกลไกที่แตต่างกันก็เพราะพวกเราผ่านประสบการณ์มาแตกต่างกัน ประสบการณ์ต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิตล้วนแล้วแต่เป็นตัวต่อเติมกลไกให้กับพวกเรา ยิ่งผ่านประสบการณ์มากเท่าไหร่กลไกของเราก็ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ

ในขณะที่เรากำลังกินอิ่มบางคนกำลังหิวโหย ในขณะที่เรากำลังนอนหลับอย่างสบายบางคนกำลังดิ้นรนเอาชีวิตรอดอย่างแสนสาหัส พวกเราผ่านเรื่องราวที่แตกต่างกันดังนั้นพวกเราจึงต่างกัน

เมื่อมนุษย์เรามารวมกันเป็นสังคมใหญ่ มีคนเป็นแสนเป็นล้านมาอยู่รวมกัน มันย่อมเป็นไปได้ที่หลายคนจะมีกลไกอะไรบางอย่างหรือหลายๆ อย่างที่คล้ายกัน แต่มันเป็นไม่ได้เลยที่ทุกคนจะมีกลกลไกที่เหมือนกันทั้งหมด

ในขณะที่กลไกมีความแตกต่างกัน แต่หลายคนกับคาดหวังให้ทุกคนมีกลไกเหมือนกัน อย่างน้อยก็ควรมีกลไกที่เหมือนหรือสอดคล้องไปกับชุดกลไกของฉัน เมื่อใดก็ตามที่เราเริ่มเอากลไกของเราไปเป็นมาตรฐานวัดความถูกผิด เมื่อนั้นความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย

ฉันเชื่อแบบนี้ทำไมเธอจึงเชื่อไม่เหมือนฉัน ฉันทำแบบนี้ทำไมเธอไปทำแบบนั้น ฉันกินอิ่มทำไมเธอจึงมาคอยบ่นว่าหิว

เราขัดแย้งกันแน่นอนเมื่อกลไกของใครคนหนึ่งกำลังไปรุกล้ำกลไกของอีกคนหนึ่ง

การทำให้ทุกคนใช้ชุดกลไกเดียวกันมันไม่มีทางเป็นไปได้

แต่สิ่งที่เราทำได้จริงๆ คือการยอมรับซึ่งความแตกต่างกัน